top of page

แนวโน้มที่ได้จากการสัมภาษณ์

          ทางคณะผู้จัดทำได้ไปทำการสัมภาษณ์บุคคลในสาขาอาชีพที่แตกต่างกันเป็นจำนวน 3 คน แต่มีจุดที่เหมือนกันคือ ทั้งสามคนเคยใช้เครื่องพิมพ์ดีดในการทำงานอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

คนที่ 1 คือ นางสาววรุณี แพนลา เจ้าพนักงานสรรพากร ชำนาญงาน สำนักงานสรรพากร พื้นที่กรุงเทพเทพมหานคร 3 กรมสรรพากร ศิษย์เก่าพาณิชยการเชตุพน (กทม.) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559 กล่าวว่า เมื่อ 32 ปีที่แล้ว ตนได้เรียนวิชาพิมพ์ดีดกับเครื่องพิมพ์ดีด ในหลักสูตรของวิทยาลัยวิชาพิมพ์ดีด แต่เมื่อทำงานก็ใช้คอมพิวเตอร์แทน เพราะเครื่องพิมพ์ดีดให้ตัวอักษรที่ไม่สวย และผ้าหมึกหาซื้อได้ยากขึ้น หลักการการพิมพ์ดีดเหมือนกับการพิมพ์คอมพิวเตอร์ ต่างกันเพียงแค่แป้นเครื่องพิมพ์ดีด ไม่มีตัวอักษร ฃ ฅ

เครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อ Olympia ไม่ทราบรุ่น ที่สำนักงานสรรพากร

คนที่ 2 คือ ดาบตำรวจสุชาติ ไผ่สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธร ศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2559 กล่าวว่า เขาเคยใช้เครื่องพิมพ์ดีดในการพิมพ์หนังสือต่างๆ คำสั่งข้อความของหน่วยงาน แต่ในปัจจุบันได้เก็บเข้าห้องครุภัณฑ์ และใช้คอมพิวเตอร์ที่ทางราชการได้แจกให้ใช้ เขายังกล่าวอีกว่า ในสมัยก่อนเครื่องพิมพ์ดีดถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก เพราะทำให้งานมีความเป็นระเบียบ ดูสะอาดตา แต่ปัจจุบันได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ ซึ่งให้ความสะดวกกว่าในหลายๆอย่าง อีกทั้งหลักการการพิมพ์ดีดมีรูปแบบการพิมพ์ การวางนิ้วแบบเดียวกับคอมพิวเตอร์ และลักษณะแป้นพิมพ์คล้ายกันจึงทำให้ปรับเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น

เครื่องพิมพ์ดีด Olivetti LINEA 98 ที่สถานีตำรวจภูธร ศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี

คนที่ 3 คือ นางจิราพร ตั้งถึงถิ่น หัวหน้าส่วนติดตามและประเมินผลธนาคารกรุงไทย สาขา นครศรีธรรมราชสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2559 ได้กล่าวว่า "ในสมัยก่อนจะมีการเปิดสอนพิมพ์ดีด และมีการสอบพิมพ์ดีดเพื่อรับเข้าทำงาน จนได้มาทำงานที่ธนาคารกรุงไทยใน พ.ศ.2536 ก็มีเครื่องพิมพ์ดีดในสำนักงานมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และได้ใช้เครื่องพิมพ์ดีดมาจนถึงปัจจุบัน แต่เดี๋ยวนี้ในหน่วยงานของตนก็ใช้แค่ในการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ที่ผู้ส่งเอกสารสแกนมาให้ โดยที่ไม่ได้ให้เป็นไฟล์ที่สามารถพิมพ์ต่อจากคอมพิวเตอร์ได้ แทนที่จะเขียนต่อเป็นลายมือก็ใช้เครื่องพิมพ์ดีดแทน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนข้อเสียคือพิมพ์ดีดลบยากหากพิมพ์ผิด ถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์ที่สามารถลบได้เลย อีกอย่างคือพิมพ์ดีดไม่สามารถปรับขนาดตัวหนังสือได้” นางจิราพรได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า “ตอนแรกหัวหน้าบอกให้เอาเครื่องพิมพ์ดีดออกเพราะล้าสมัย แต่พนักงานต่างยังต้องการเครื่องพิมพ์ดีดเพราะยังมีความจำเป็นในการใช้ในเอกสารบางส่วน”

นางจิราพร ตั้งถึงถิ่นขณะนั่งพิมพ์เครื่องพิมพ์ดีด Olympia ไม่ทราบรุ่น

          จากการสัมภาษณ์ทำให้พบว่าเครื่องพิมพ์ดีดค่อยๆถูกแทนที่ด้วยเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถบันทึกและสื่อภาษาได้เช่นเดียวกัน แต่ให้ความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำงาน แต่เครื่องพิมพ์ดีดก็มีความเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ในแง่ของแผนผังตัวอักษรที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกบนเครื่องพิมพ์ดีดส่งผลกระทบมาถึงแผนผังแป้นพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ก็ยังคงแบบแผงผังแป้นพิมพ์เดียวกัน คือ แป้นพิมพ์แบบเกษมณี ที่ถึงแม้จะบางจุดแตกต่างกันบ้างเช่น ตัวอักษร ฃ ฅ ที่เครื่องพิมพ์ดีดของผู้สัมภาษณ์ไม่มี แต่เรากลับพบบนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ แต่ก็อยู่ในตำแหน่งที่เพิ่มเข้ามา ไม่ได้แทรกอยู่ระหว่างแป้นตัวอักษรใดๆ

bottom of page